FILMVIRUS WILDTYPE 2012 Program Real Fiction

 

real ficiton

สิ่งที่filmvirus  ค้นหาในหนังสั้นไทยในแต่ละปี และค้นพบนั่นคือภาพและเสียงใหม่ เรื่องราวใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ กระทั่งความไร้เดียงสาในการนำเสนอประเด็นหนักหน่วง แน่นอนว่าไม่ใช่หนังสั้นทั้งหมดจะเป็นหนังสั้นชั้นเลิศประหนึ่งเพชรในตมจากดินแดนห่างไกล บางเรื่องเป็นผีมือของเด็กมัธยมที่เพิ่งเริ่มจับกล้อง หรืออาจจะเป็นเพียงคนเดินถนนสามัญที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องหนังมาก่อน  เป็นเพียงหนังที่ทำขึ้นเพื่อความบันเทิงภายในบ้าน นำเสนอในหน่วยงาน ไปจนถึงการบันทึกเหตุการณ์สำคัญโดยบังเอิญ ทำส่งอาจารย์ในวิชาต่างๆ หรือกระทั่งตั้งใจทำเพื่อสอนสั่งศีลธรรมอันดีแก่สังคม ความสนุกสนานเหล่านั้น  ความน่าเบื่อหน่ายเหล่านั้น ความตลกโปกฮาเหล่านั้น ความไม่ได้เรื่องได้ราวเหล่านั้นคือพลังของสื่อใหม่อย่างภาพยนตร์ ซึ่งในที่สุดได้ปลดแอกออกจากเรื่องของมืออาชีพ นักเรียนหนัง นายทุน สตูดิโอ เจ้าของอุปกรณ์ หรือผู้รู้ไดๆ ใครก็อาจบอกได้ว่าถึงที่สุดภาพยนตร์ก็หล่นจากสวรรค์ลงมาอยู่ในมือคนเดินดินด้วยความอุดหนุนของเทคโนโลยีซึ่งทำให้อุปกรณ์ถ่ายทำถูกลง และใช้ง่ายขึ้น จนในที่สุดใครก็ทำหนังได้แล้ว

 

และนี่คือโปรแกรมฉายที่เราได้คัดสรร ค้นพบ ตลอดปีนี้ แน่นอนว่าเราไม่สามารถฉายหนังทั้งหมดที่เราอยากฉายได้ เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงหนัง เกิดความขลุกขลักระหว่างการติดต่อ หรือไม่มีเวลามากพอที่จะฉายได้ทั้งหมด  แต่นี่คือโปรแกรมที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้สำหรับการฉายในปีนี้

23/12/12

4 PM

Real Fiction  (120 mins) 

 

ดังที่Michael Hanekeเคยกล่าวไว้ว่า  ภาพยนตร์นั้นเป็นเพียง ชุดภาพแบบจำลองของความจริงโดยเฉพาะ งานสารคดีนั้นน่ากลัวที่สุด  สารคดีนั้นถูกรับรู้ในฐานะของความจริงทั้งๆที่ตัวมันเป็นเพียงภาพที่ถูกคัดสรร ตัดต่อ เลือกที่จะเล่าเรื่องหนึ่งๆเพื่อตอบสนองเป้าหมายหนึ่งๆ มันจึงไม่ใช่ความจริงหากเป็นเพียงแบบจำลองของความจริงหนึ่งๆชึ่ยังมีความจริงอื่นๆอีกมากมาย

 

สารคดีที่เราเลือกมาฉาย กลับไม่ใช่สารคดีที่ข้องเกี่ยวกับความจริงมากนัก สำหรับเราแล้วนั้นสารคดีเป็นเรื่องเล่าอีกแบบหนึ่งที่ไปได้ไกลกว่าการเป็นเรื่องเล่าดั้งเดิมที่มีข้อจำกัด สารคดีที่เราสนใจคือสารคดีที่เล่าเรื่องส่วนตัวของคนสามัญ สารคดีที่เป็นการทอดน่อท่องไปตามโลก สารคดีแห่งการจับสังเกตผู้คนเพียงเพื่อสังเกตมากกว่าจะพยายามเชิดชุหรือทำลายล้าง หรือกระทั่งสารคดีแบบอื่นๆทีสร้างขึ้นจากภาพที่มีอยู่แล้วเกลื่อนกล่นไปในโลกสมัยอินเตอร์เนท

 

นี่คือโปรแกรมสารคดีที่เราอยากชี้ชวนคุณชมครับ

 

สวนสยาม(ชลสิทธิ์  อุปนิกขิต/46 mins) No sub needed 

 

เริ่มต้นจากการเป็นสารคดีเชิงสังเกตการณ์เหตุการณ์ต่างๆในสวนสาธารณะ ตั้งแต่ อาอี๊อาแปะรำไท้เก๊กตอนเช้ามืด กลุ่มกนุ่มสาวซ้อเชียร์ลีด กองถ่ายภาพยนตร์ ร้านส้มตำหาบเร่ ผู้คนสนทนากันใต้ร่มไม้ งานก่อสร้างตึกข้างๆ เด็กหนุ่มสาวพลอดรัก ผู้คนมาออกกำลังกาย  มาซ้อมละคร กระทั่งมานั่งเหม่อฟังเพลงริบึงแล้วร้องให้ กิจกรรมมากหลายในที่สาธารณะถูกจับจ้องมองด้วยดวงตากึ่งสังเกตสังกาในที่แรก ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่การเขม้นมองที่ค่อยๆรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัวในสวนสาธารณะ

 

ดูเหมือนสวนสาธารณะจะเป็นพื้นที่อยู่ตรงขอบของการเป็นพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวที่น่าสนใจ ในทางหนึ่งมันคือพื้นที่ที่ใครจะทำอะไรอย่างไรก็ได้ ในขณะเดียวกันมันก็เปิดโล่งต่อการท้าทายสายตาของผู้อื่น ผู้ชมในหนังเริ่มจากการเป็นผู้จ้องมองเรื่อยเปื่อยเผ้าดูกิจกรรมมากหลายอย่างไร้เป้าประสงค์จนเมื่อมันค่อยๆเคลื่อนขยับสายตานั้นเองเราจึงค่อยรู้ตัวว่าที่แท้เราเปลี่ยนจากผู้มองเป็นผู้จ้องมองเหตุการณ์เฉพาะหนึ่งๆ สายตาของเราค่อยๆถูกปรับจากความเรื่อยเฉื่อยไปสู่การลักลอบแอบมองพื้นที่ส่วนตัวของผู้คน ซึ่งกว่าเราจะตระหนักรู้ก็ต่อเมือ่ เราถูกจ้องมองกลับจากคนที่เรามอง

 

ถ้าภาพยนตร์คือรูปแบบของการถ้ำมอง การตระหนักรุ้ว่าเรากำลังถ้ำมองอย่างไรมารยาทบนจอหนังได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามการเขม้นมองของเราโดยไม่ตั้งใจเมื่อการจ้องมองของเราที่ทำให้ผู้คน ลุกหนี หันหน้ามาจ้องกลับอย่างไม่พอใจ หรือ ทำเป็นไม่ใส่ใจ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดดำเนินไปใน ‘สวนสาธารณะ’ คำถามที่สำคัญจึงเป็น ขอบเขตอันพร่าเลือนพื้นที่ส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่พร่าเลือนของสายตาสองแบบที่หนังมอบให้ผู้ชมทั้งความปลอดภัยสบายตา และความกระอักกระอ่วนของการถูกคุกคาม

 

Home Video Family (วชร กัณหา/22 mins) No sub 

 

ครึ่งแรกเป็นภาพบันทึกความรักที่มีต่อคนรัก และความรักที่มีต่อความรัก และความใคร่ ด้วยวิธีการแบบหนังทดลองพื้นฐาน ภาพตัดสลับและข้อความที่ขึ้นมาอย่างโจ่งแจ้งจงใจ ความโจ่งแจ้งจงใจกระแทกใส่ใบหน้าผู้ชมละม้ายการตะโกน ชี้ให้ดู ทำให้เห็น ฆ่าตัวเอาเลือดมาทาจอเพื่อเรียกความสนใจ ครึ่งแรกของหนังเป็นเหมือนถ้อยแถลงการณ์ส่วนบุคคล เป็นบันทึกส่วนที่ปกติไม่ได้เปิดให้ใครอ่าน

 

ในขณะที่ครึ่งหลังกลับเป็นบันทึกความทรงจำที่ปราศจากความรุนแรงทางอารมณ์ ภาพบันทึกฉับพลันทันใดของการที่ครอบครัวไปเดินทางท่องเที่ยวแบบฉุกละหุกที่วัดในเขาคิชฌกูฏ ภาพบันทึกที่ทำหน้าที่แทนไดอารี่ในอีกทางหนึ่ง หากครึ่งแรกเป็นการเขียนสิ่งที่เขียนไม่ได้ การกระทำอย่างโจ่งแจ้งตั้งใจให้เห็น ครึ่งหลังคือการบันทึกสิ่งที่เขียนไม่ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง รูปแบบของการซ่อนเอาไว่้ในไดอารี่ของครอบครัว ดวงตาอบอุ่นอ่อนโยนของการไปเที่ยวด้วยกันทั้งบ้าน

 

แต่มันยังไปสุดทางกว่านั้นเพราะในฉากสุดท้ายเกิดขึ้นในยามรุ่งสาง กลางภูเขาสูงชันเคลียสายหมอก ภาพผู้คนหลังไหลไปไหว้พระตอนเช้ามืดใ้ความรู้สึกคล้ายหนังมานุษวิทยาที่บันทึกพิธีกรรมลึกลับ โดยไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ อารมณ์ของหนังซึ่งพุ่งขึ้นถึงขีดสุดในครึ่งแรก ถูกผลักไปสู่ความนุ่มนวลในช่วงกลาง และขยับขยายไปสู่สิ่งที่ยากอธิบายในช่วงท้ายนี้เอง สรรพสิ่งบันทึกผ่านกล้องอย่างเชื่องช้าไปสู่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และทิ้งผู้ชมไว้ตรงนั้น

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ วีดีโอไดอารี่ของวชร ได้ทำหน้าที่ยันทึก ที่สิ่งซึ่งถูกบันทึกมาได้ก่อความหมายใหม่ที่น่าสนใจมากๆ

 

8.8.88 ( วิชาติ สมแก้ว/25 mins) ไทย eng subs

 

หลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุมของรัฐฐบาลพม่าในเหตุการณ์ 8888 8 สิงหาคม 1988 พ่อและแม่ของทาร์จิซึ่งเป็นนักศึกษาที่เข้ามาร่วมชุมนุมในกรุงย่างกุ้งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จากรัฐบาลทหารของนายพลเนวิน ได้อพยพมาเมืองไทยทางเกาะสองผ่านจังหวัดระนอง แล้วย้ายมาอาศัยและทำงานที่ทางภาคใต้ของประเทศไทย

 

ทาร์จิ เติบโตมาในบริบทของการใช้แรงงาน เป็นเด็กหนุ่มชาวมอญอายุ 12 ปี เกิดในประเทศไทย พูดได้สามภาษาคือ มอญ,พม่า และไทย อาศัยอยู่ในห้องเช่ากับแม่และน้องๆบริเวณแพปลา ย่านของร้านคาราโอเกะและหญิงขายบริการ ทาร์จิเคยทำงานบนเรือประมงกับพ่อตอนอายุ 11 ปี และก็ต้องช่วยแม่ทำงานเพื่อเลี้ยงดูน้องทั้งสี่คน ทาร์จิและน้องๆอยากจะเข้าเรียนที่ศูนย์เด็กละแวกบ้าน แต่ด้วยไม่มีเงินเลยต้องทำงาน ทุกวันที่เรือเข้าทาร์จิต้องออกไปคัดแยกปลาที่แพ ได้ค่าจ้างโดยขึ้นอยู่กับปริมาณของปลาในแต่ละเที่ยว

 

ทาร์จิมีเพื่อชาวพม่ารุ่นเดียวกันชื่อ เนียซู เนียซูมักจะไปขายของเล่นแถวรีสอร์ตและชายหาดโรงไฟฟ้าขนอม ทั้งคู่สนิทกันหลังจากเกิดเหตุการณ์บางอย่างกับ ทาร์จิ

 

สารคดีโฟกัสไปที่การสังเกตสังกาชีวิตของทาร์จิ ที่กำลังจะเปลี่ยนจากเด็กไปสู่โลของผู้ใหญ่วัยทำงาน หนังสัมภาษณ์ชีวิตของทาร์จิและมารดาของเขา ติดตามทาร์จิไปยังสถานที่ต่างๆเฝ้าดูวันวัยของเขา

 

 

ประวัติศาสตร์ที่สร้างนานแล้ว (ศาสวัต บุญศรี/10mins) no sub needed

 

ภาพยนตร์ จาก found footage เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ตลอดทศวรรษ2510 -2520 ที่ถูกนำมาจัดเรียงใหม่  สร้างเวลาใหม่ เมื่อส่วนที่กดทับสลับตำแหน่งกับส่วนที่เทิดไว้  เส้นแบ่งเวลาได้พร่าเลือนออก ตัวเหตุการณ์ได้ถูกปลอกเอาเปลือกออก ความรับรู้ใหม่บนจอได้ซ้อนทับ และสะท้อนภาพความรับรู้ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างแต่เพียงเปลือกอย่างชวนยอกแสยงใจชนิดที่ยิ่งสับสนยิ่งแสบทรวง

 

ฉันจะเป็นชาวนาอีฟ (วิริญาพร บุญประเสริฐ/27 mins) No sub

นี่อาจจะเป็นสารคดี หรืออาจจะไม่ก็ได้ เพราะนี่คือหนังที่สร้างขึ้นจาก found footage ของสิ่งที่ค้นหาได้จากการกวาดตาไปในสถานีโทรทัศน์หลากหลายช่องในบ้านเรา ตั้งแต่สารคดีอยากเป็นชาวนา ไปถึงการขายเหรียญตราแห่งความจงรักภักดี โฆษณาชีวิตชนชั้นกลางแสนสุขสร้างความสามัคคีไปจนถึงบทสัมภาษณ์คนมีชื่อเสียงที่พูดกันแต่เรื่องโลกเราสวยงาม

 

ทั้งหมดทั้งมวลถูกจัดวางอย่างยั่วล้อกันเอง เสริมพลังกันเองและหักล้างกันเองอย่างน่าขัน สร้างทั้งพลังแ่งการเสียดสีจากการเียงลำดับฟุตเตจขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราตระหนกอย่างรุนแรงว่าที่แท้เราอยู่ในสังคมแห่งการโฆษณษชวนเชื่อที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน รุนแรงแค่ไหน คุกคามแค่ไหน  แนบเยียนแค่ไหน จนดูเหมือนนี่คือสื่อการสอนในการอบรมการเป็นมนุษย์ไร้เดียงสาประจำศตวรรษ

 

Leave a comment